รถไฟฟ้าสายสีแดง ถือเป็นอีกหนึ่งระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ลดปัญหาการจราจร และเชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในบทความนี้ Frasers Property Home จะพาคุณไปเจาะลึกถึงจำนวนสถานี และวิธีการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง รวมทั้งอัตราค่าโดยสาร และโครงการบ้านทำเลใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อให้คุณได้เลือกที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ด้านการเดินทางได้มากยิ่งขึ้น ทั้งประหยัดเวลาชีวิต และยังได้มีเวลาไปทำกิจกรรมที่ชอบได้มากกว่าเคย ตามมาดูกันเลย!
รู้จัก! รถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดง (RED Line) เป็นระบบรถไฟฟ้าชานเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองทางด้านเหนือและด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครเข้ากับสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของประเทศ
วัตถุประสงค์ของการสร้าง
วัตถุประสงค์หลักของการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง คือ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะในพื้นที่ชานเมืองที่มีการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองยังไม่สะดวกเท่าที่ควร นอกจากนี้การมีระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงยังช่วยส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดพลังงานและลดปัญหามลพิษทางอากาศได้
อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชานเมือง ให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาในใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศให้มีความทันสมัยและสามารถรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง มีเส้นอะไรบ้าง
รถไฟฟ้าสายสีแดงในปัจจุบันเปิดให้บริการ 2 เส้นทางหลัก ซึ่งมีจุดเริ่มต้นร่วมกันที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อเดิม) ก่อนจะแยกไปยังทิศเหนือและทิศตะวันตก เพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่ชานเมือง
1. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม จะมีจุดเริ่มต้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อเดิม) และมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ สิ้นสุดที่สถานีรังสิต โดยมีสถานีที่เปิดให้บริการในปัจจุบันทั้งหมด 10 สถานี ดังนี้
- สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
- สถานีจตุจักร
- สถานีวัดเสมียนนารี
- สถานีบางเขน
- สถานีทุ่งสองห้อง
- สถานีหลักสี่
- สถานีการเคหะ
- สถานีดอนเมือง
- สถานีหลักหก
- สถานีรังสิต
ซึ่งเส้นทางทั้งหมดนี้เป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ กับใจกลางเมือง ทำให้คนที่อยู่ชานเมืองมีการเดินทางเข้า-ออกเมืองได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
2. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน มีจุดเริ่มต้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เช่นกัน และมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก สิ้นสุดที่สถานีตลิ่งชัน โดยมีสถานีที่เปิดให้บริการในปัจจุบันทั้งหมด 4 สถานี ได้แก่
- สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
- สถานีบางซ่อน (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง)
- สถานีบางบำหรุ
- สถานีตลิ่งชัน
เป็นเส้นทางที่ช่วยให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ฝั่งธนบุรีและชานเมืองทางตะวันตก สามารถเข้าถึงใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกสบายกว่าเคย
รถไฟฟ้าสายสีแดง มีทั้งหมดกี่สถานี สถานีอะไรบ้าง?
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มที่เริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อเดิม) มุ่งหน้าไปยังทิศเหนือจนถึงสถานีรังสิตนั้น มีสถานีที่เปิดให้บริการในปัจจุบันทั้งหมด 10 สถานี ดังนี้
สถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม
สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม มีทั้งหมด 10 สถานี ดังนี้
- สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
เป็นสถานีต้นทางและสถานีหลักของรถไฟฟ้าสายสีแดง ตั้งอยู่ที่ถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และรถไฟทางไกล - สถานีจตุจักร
ตั้งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 และถนนกำแพงเพชร 6 ใกล้กับตลาดนัดจตุจักร สวนจตุจักร และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต 2) - สถานีวัดเสมียนนารี
ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดเสมียนนารี บนถนนกำแพงเพชร 6 ในพื้นที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - สถานีบางเขน
ตั้งอยู่บริเวณแยกบางเขน ช่วงถนนกำแพงเพชร 6 ตัดกับถนนงามวงศ์วาน ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ - สถานีทุ่งสองห้อง
ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 6 บริเวณด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในพื้นที่แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ ใกล้กับสโมสรตำรวจ - สถานีหลักสี่
ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนวิภาวดีรังสิต ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนพหลโยธิน ใกล้กับไอทีสแควร์ หลักสี่ และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ - สถานีการเคหะ
ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับการเคหะแห่งชาติ สำนักงานใหญ่ และร้านเจ๊เล้ง ดอนเมือง - สถานีดอนเมือง
ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับท่าอากาศยานดอนเมือง และมีทางเชื่อมไปยังอาคารผู้โดยสาร - สถานีหลักหก
ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับมหาวิทยาลัยรังสิต และหมู่บ้านเมืองเอก - สถานีรังสิต
เป็นสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ตั้งอยู่บนถนนรังสิต-ปทุมธานี ใกล้กับฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และสถานีขนส่งผู้โดยสารรังสิต
สถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน มีทั้งหมด 4 สถานี ดังนี้
- สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
ต้นทางร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) และรถไฟทางไกล - สถานีบางซ่อน
ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดระหว่างถนนรัชดาภิเษกและถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ในพื้นที่แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ และถือเป็นสถานีที่สำคัญเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ทำให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังนนทบุรีและพื้นที่อื่น ๆ ได้สะดวก - สถานีบางบำหรุ
ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ ในพื้นที่แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด ใกล้กับโรงพยาบาลเจ้าพระยา และชุมชนบางบำหรุ - สถานีตลิ่งชัน
เป็นสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ตั้งอยู่บริเวณถนนบรมราชชนนี ในพื้นที่แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน ใกล้กับสถานีขนส่งสายใต้ (ตลิ่งชัน) และตลาดน้ำตลิ่งชัน
รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้บริการเมื่อไหร่
รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ทั้งสองเส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ - รังสิต) และสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ - ตลิ่งชัน)
อัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีแดง ราคาเท่าไหร่
เดิมทีอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงคิดตามระยะทาง โดยมีราคาเริ่มต้นและราคาสูงสุดดังตาราง
อัตราค่าโดยสารสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ - รังสิต)
จากสถานี | กรุงเทพอภิวัฒน์ | จตุจักร | วัดเสมียนนารี | บางเขน | ทุ่งสองห้อง | หลักสี่ | การเคหะ | ดอนเมือง | หลักหก | รังสิต |
กรุงเทพอภิวัฒน์ | 12 | 16 | 19 | 20 | 23 | 27 | 30 | 33 | 42 | 42 |
จตุจักร | 16 | 12 | 15 | 17 | 19 | 23 | 26 | 29 | 38 | 42 |
วัดเสมียนนารี | 19 | 15 | 12 | 14 | 16 | 20 | 23 | 26 | 35 | 40 |
บางเขน | 20 | 17 | 14 | 12 | 14 | 19 | 22 | 25 | 34 | 38 |
ทุ่งสองห้อง | 23 | 19 | 16 | 14 | 12 | 17 | 20 | 23 | 32 | 36 |
หลักสี่ | 27 | 23 | 20 | 19 | 17 | 12 | 15 | 18 | 27 | 32 |
การเคหะ | 30 | 26 | 23 | 22 | 20 | 15 | 12 | 15 | 24 | 29 |
ดอนเมือง | 33 | 29 | 26 | 25 | 23 | 18 | 15 | 12 | 21 | 26 |
หลักหก | 42 | 38 | 35 | 34 | 32 | 27 | 24 | 21 | 12 | 17 |
รังสิต | 42 | 42 | 40 | 38 | 36 | 32 | 29 | 26 | 17 | 12 |
อัตราค่าโดยสารสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ - ตลิ่งชัน)
จากสถานี | กรุงเทพอภิวัฒน์ | บางซ่อน | บางบำหรุ | ตลิ่งชัน |
กรุงเทพอภิวัฒน์ | 12 | 18 | 29 | 35 |
บางซ่อน | 18 | 12 | 23 | 29 |
บางบำหรุ | 29 | 23 | 12 | 18 |
ตลิ่งชัน | 35 | 29 | 18 | 12 |
แต่ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้รับข่าวดีด้วยนโยบายจากรัฐบาล ปรับลดอัตราค่าโดยสารใหม่ เป็นราคาสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จากเดิมที่เคยมีราคาตั้งแต่ 12 ถึง 42 บาท เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น โดยนโยบายนี้ก็ได้ถูกขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568 นี้
ไม่ว่าจะเป็นสายธานีรัถยา (สายสีแดงเข้ม) หรือ สายนครวิถี (สายสีแดงอ่อน) ที่มีระยะทางรวมกันถึง 41 กิโลเมตร คุณก็สามารถเดินทางได้ในราคาเริ่มต้นเพียง 12 บาท และสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเท่านั้น และสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และพระภิกษุสงฆ์ ก็จะยังคงได้รับส่วนลด 50% จากอัตราค่าโดยสารใหม่นี้ ส่วน นักเรียนและนักศึกษา จะได้รับส่วนลด 10% โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเช่นกัน
แต่ทั้งนี้ในการขึ้นรถไฟแต่ละครั้งผู้โดยสารจะสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 120 นาที หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด ระบบจะคิดค่าธรรมเนียมในอัตราค่าโดยสารสูงสุดเดิมคือ 42 บาท
รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิด-ปิดกี่โมง
รถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการทุกวัน โดยมีรถไฟฟ้าสายสีแดง เที่ยวสุดท้าย ออกจากสถานีต้นทางและปลายทางในเวลาที่แตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้
เวลาเปิด-ปิด ของรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม
- วันจันทร์ - วันอาทิตย์ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05:30 น. ถึง 24:00 น.
- เที่ยวแรก ออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 05:30 น.
- เที่ยวสุดท้าย ออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 23:55 น. และออกจากสถานีรังสิต เวลา 24:00 น.
เวลาเปิด-ปิด ของรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
- วันจันทร์ - วันอาทิตย์ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06:00 น. ถึง 23:45 น.
- เที่ยวแรก ออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 06:00 น.
- เที่ยวสุดท้าย ออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 23:45 น. และออกจากสถานีตลิ่งชัน เวลา 23:45 น.
ความถี่และเวลาในการเดินรถ
ความถี่ในการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้
ช่วงเวลาเร่งด่วน (Peak Hours)
- สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ - รังสิต) ทุกๆ 10 นาที
- สายสีแดงอ่อน (บางซื่อ - ตลิ่งชัน) ทุกๆ 12 นาที
ช่วงเวลาปกติ (Off-Peak Hours)
- สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ - รังสิต) ทุกๆ 15 นาที
- สายสีแดงอ่อน (บางซื่อ - ตลิ่งชัน) ทุกๆ 20 นาที
รถไฟฟ้าสายสีแดง เชื่อมต่อกับ MRT หรือ BTS สถานีอะไรได้บ้าง?
รถไฟฟ้าสายสีแดงได้รับการออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสาร โดยสามารถเชื่อมต่อกับ MRT หรือ BTS ได้ที่สถานีต่าง ๆ เหล่านี้
สถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง กับ mrt
รถไฟฟ้าสายสีแดงสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ได้ที่สถานีต่าง ๆ ดังนี้
1. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
- การเดินทางจาก MRT ไปรถไฟฟ้าสายสีแดง สามารถเดินออกจากสถานี MRT บางซื่อ (สายสีน้ำเงิน) ตามป้ายบอกทางไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นอาคารเดียวกัน ทำให้สามารถเปลี่ยนถ่ายขบวนรถได้อย่างสะดวก
- การเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีแดง ไป MRT เมื่อถึงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ให้เดินตามป้ายบอกทางไปยังสถานี MRT บางซื่อ (สายสีน้ำเงิน) เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานีอื่น ๆ ในระบบ MRT
2. สถานีบางซ่อน
- การเดินทางจาก MRT ไปรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยสามารถเดินออกจากสถานี MRT บางซ่อน (สายสีม่วง) ตามป้ายบอกทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีบางซ่อน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน ทำให้สามารถเปลี่ยนถ่ายขบวนรถได้โดยไม่ยุ่งยาก
- การเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีแดง ไป MRT เมื่อถึงสถานีบางซ่อน ให้เดินตามป้ายบอกทางไปยังสถานี MRT บางซ่อน (สายสีม่วง) เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานีอื่น ๆ ในระบบ MRT ต่อ
สถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง กับ bts
รถไฟฟ้าสายสีแดงสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ได้ที่สถานีต่าง ๆ ดังนี้
1. สถานีจตุจักร
- การเดินทางจาก BTS ไปรถไฟฟ้าสายสีแดง สามารถเดินออกจากสถานี BTS หมอชิต (สายสุขุมวิท) และเดินไปยังสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีจตุจักร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน สามารถเดินเท้าเพื่อเปลี่ยนถ่ายขบวนรถได้
- การเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีแดง ไป BTS เมื่อถึงสถานีจตุจักร ให้เดินไปยังสถานี BTS หมอชิต (สายสุขุมวิท) เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานีอื่น ๆ ในระบบ BTS ต่อ
2. สถานีหลักสี่
- การเดินทางจาก BTS ไปรถไฟฟ้าสายสีแดง ให้เดินออกจากสถานี BTS หลักสี่ (สายสุขุมวิท ส่วนต่อขยาย) และเดินไปยังสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีหลักสี่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน สามารถเดินเท้าเพื่อเปลี่ยนถ่ายขบวนรถได้
- การเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีแดง ไป BT: เมื่อถึงสถานีหลักสี่ ให้เดินไปยังสถานี BTS หลักสี่ (สายสุขุมวิท ส่วนต่อขยาย) เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานีอื่น ๆ ในระบบ BTS
อัปเดทล่าสุดข้อมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
สำหรับโครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน มีแผนที่จะขยายเส้นทางเพิ่มเติมทั้งทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ดังนี้
- ส่วนต่อขยายด้านตะวันตก ตลิ่งชันถึงศาลายา ระยะทางประมาณ 14.8 กิโลเมตร มีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติม 3 สถานี ได้แก่ สถานีกาญจนาภิเษก, สถานีบ้านฉิมพลี, สถานีศาลายา โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2568 และแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2571 เพื่อเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และพื้นที่ชานเมืองทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้สะดวกยิ่งขึ้น
- ส่วนต่อขยายด้านตะวันออก (บางซื่อ - หัวหมาก) กำลังยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและออกแบบรายละเอียด
หลังรถไฟฟ้าสายสีแดงเปิด ส่งผลบวกต่อการเดินทาง-อสังหาฯ มากน้อยแค่ไหน
1. ด้านการเดินทางไป-กลับสนามบิน
รถไฟฟ้าสายสีแดง (สายสีแดงเข้ม) มีสถานีที่เชื่อมต่อโดยตรงกับท่าอากาศยานดอนเมือง (สถานีดอนเมือง) ทำให้การเดินทางระหว่างสนามบินและตัวเมืองกรุงเทพฯ เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรที่ติดขัด โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปยังสนามบินดอนเมืองได้อย่างง่ายดายด้วยรถไฟฟ้า ลดความกังวลเรื่องเวลาในการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่
2. ด้านการเพิ่มศักยภาพเมืองใหม่
การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยเฉพาะส่วนต่อขยายไปยังพื้นที่ชานเมือง เช่น รังสิต และในอนาคตไปยังศาลายา จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมืองใหม่ตามแนวรถไฟฟ้า เนื่องจากความสะดวกในการเดินทางจะดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบธุรกิจในพื้นที่เหล่านี้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม รวมถึงอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก ซึ่งจะช่วยกระจายความเจริญออกจากใจกลางเมืองและสร้างความสมดุลในการพัฒนาเมือง
3. ด้านการเดินทางด้วยรถไฟไปยังภูมิภาคต่าง ๆ
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นสถานีหลักของรถไฟฟ้าสายสีแดง ถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของประเทศ โดยเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และเป็นจุดเริ่มต้นของรถไฟทางไกลที่เดินทางไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางจากชานเมืองมายังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพื่อต่อรถไฟไปยังต่างจังหวัดได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
4. ด้านการเดินทางของชานเมือง
รถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งสองเส้นทาง (บางซื่อ - รังสิต และ บางซื่อ - ตลิ่งชัน) มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ชานเมืองให้มีความสะดวกสบายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณรังสิต ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน บางบำหรุ และตลิ่งชัน จึงสามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ หรือไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า MRT และ BTS ได้อย่างง่ายดาย ช่วยลดเวลาในการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย และเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ
โครงการบ้านใกล้รถไฟฟ้าสายสีแดง
โครงการที่อยู่อาศัยหลากหลายรูปแบบ ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม ที่ตั้งอยู่ใกล้กับแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการเดินทางที่สะดวกสบาย
โครงการบ้านใกล้รถไฟฟ้าสายสีแดง (สายสีแดงเข้ม - บางซื่อ - รังสิต)
1. แกรนดิโอ วิภาวดี-รังสิต
โครงการบ้านเดี่ยวหรู บนทำเลศักยภาพ ใกล้ถนนวิภาวดีรังสิต และทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เดินทางสะดวกสู่สนามบินดอนเมือง และเชื่อมต่อเข้าเมืองได้ง่าย ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีดอนเมือง และสถานีหลักสี่ ให้ความเป็นส่วนตัวสูง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
2. เดอะ แกรนด์ วิภาวดี 60
โครงการบ้านเดี่ยวระดับพรีเมียม ที่โดดเด่นด้วยดีไซน์หรูหราและมีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนทำเลศักยภาพ ใกล้ถนนวิภาวดีรังสิต และทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เดินทางสะดวกสู่สนามบินดอนเมือง และเชื่อมต่อเข้าเมืองได้ง่าย ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีดอนเมือง และสถานีหลักสี่
3. โกลเด้น ทาวน์ วิภาวดี-รังสิต
โครงการทาวน์โฮมหรู 4 ห้องนอน สไตล์อังกฤษ ที่ออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยที่คุ้มค่า ฟังก์ชันครบครัน และมีความสวยงามโดดเด่น ตั้งอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก ใกล้ถนนวิภาวดีรังสิต และไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีดอนเมือง และสถานีหลักสี่ เหมาะสำหรับครอบครัวที่ต้องการทาวน์โฮมคุณภาพในทำเลที่มีศักยภาพในการเติบโต
4. โกลเด้น ทาวน์ ฟิวเจอร์ - รังสิต
ทาวน์โฮมดีไซน์อิตาลี "มิลาโน สไตล์" ที่ผสานความใกล้ชิดธรรมชาติเข้ากับความสะดวกสบายใจกลางเมืองรังสิตได้อย่างลงตัว ด้วย พื้นที่ใช้สอยถึง 96 ตารางเมตร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันที่ตอบรับทุกไลฟ์สไตล์ของคุณ
สรุป
รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 2 เส้นทางหลัก คือ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ - รังสิต) มี 10 สถานี และ สายสีแดงอ่อน (บางซื่อ - ตลิ่งชัน) มี 4 สถานี การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงนี้ได้ช่วยยกระดับความสะดวกในการเดินทางของชาวชานเมืองอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับผู้ที่มองหาบ้านใกล้แนวรถไฟฟ้าสายสีแดง Frasers Property เรามีโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมหลากหลายสไตล์ พร้อมให้คุณสัมผัสชีวิตที่เชื่อมต่อทุกการเดินทางได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบาย ด้วยโครงการที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ใจกลางย่านทำเลทอง!
บทความน่าสนใจอื่นๆ
รวม 8 โครงการบ้านเดี่ยวใกล้รถไฟฟ้า mrt bts จากเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้